ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย จุดมุ่งหมายของการศึกษาปฐมวัย การศึกษาปฐมวัย พัฒนาการและคุณค่าของศิลปะ ความหมายแะความสำคัญของศิลปะสำหรับเด็ก ศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย

ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย



 หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช ๒๕๔๖ พัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยแนวคิดต่อไปนี้
. แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก  พัฒนาการของมนุษย์เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวมนุษย์
เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ซึ่งครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงใน  เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา จะมีความสัมพันธ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นตอนไปพร้อมกันทุกด้าน  เด็กแต่ละคนจะ  เติบโตและมีลักษณะพัฒนาการแตกต่างกันไปตามวัย โดยที่พัฒนาการเด็กปฐมวัยบ่งบอกถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัย
เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงอายุ ๕ ปี


พัฒนาการแต่ละด้านมีทฤษฎีเฉพาะอธิบายไว้และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเด็ก  อาทิ  ทฤษฎีพัฒนาการทางร่างกายที่อธิบายการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กว่ามีลักษณะต่อเนื่องเป็นลำดับขั้น เด็กจะพัฒนาถึงขั้นใดจะต้องเกิดวุฒิภาวะของความสามารถขั้นนั้นก่อน หรือ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาที่อธิบายว่าเด็กเกิดมาพร้อมวุฒิภาวะ ซึ่งจะพัฒนาขึ้นตามอายุ  ประสบการณ์ ค่านิยมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่อธิบายว่าเด็กจะพัฒนาได้ดีถ้าในแต่ละช่วงอายุเด็กได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ตนพอใจ  ได้รับความรัก ความอบอุ่นอย่างเพียงพอจากผู้ใกล้ชิด มีโอกาสช่วยตนเอง  ทำงานที่เหมาะสมกับวัยและมีอิสระที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตนอยากรู้รอบ ๆ ตนเอง
ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก จึงเป็นเสมือนหนึ่งแนวทางให้ผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจเด็ก  สามารถอบรมเลี้ยงดูและจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมกับวัยและความแตกต่างของแต่ละบุคคล ในอันที่จะส่งเสริมให้เด็กพัฒนาจนบรรลุผลตามเป้าหมายที่ต้องการได้ชัดเจนขึ้น
. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้  การเรียนรู้ของมนุษย์เรามีผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และการเรียนรู้จะเป็นไปได้ดี 
ถ้าผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  ได้เคลื่อนไหว  มีโอกาส  คิดริเริ่มตามความต้องการและความสนใจของตนเอง  รวมทั้งอยู่ในบรรยากาศที่เป็นอิสระ  อบอุ่นและปลอดภัย  ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก  และเนื่องจากการเรียนรู้นั้นเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในระดับที่สูงขึ้น  ทั้งคนเราเรียนรู้มาตั้งแต่เกิดตามธรรมชาติก่อนที่จะมาเข้าสถานศึกษา การจัดทำหลักสูตรจึงยึดแนวคิดที่จะให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วยตัวเด็กเอง ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอิสระ เอื้อต่อการเรียนรู้  และจัดกิจกรรให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน
. แนวคิดเกี่ยวกับการเล่นของเด็ก   การเล่นถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน  เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน  เพลิดเพลิน ได้สังเกต  มีโอกาสทำการทดลอง สร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาและค้นพบด้วยตนเอง  การเล่นจะมีอิทธิพลและมีผลดีต่อการเจริญเติบโต  ช่วยพัฒนาร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา  จากการเล่นเด็กมีโอกาสเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ได้ใช้ประสาทสัมผัสและการรับรู้ ผ่อนคลายอารมณ์ และ แสดงออกถึงตนเอง เรียนรู้ความรู้สึกของผู้อื่น  การเล่นจึงเป็นทางที่เด็กจะสร้างประสบการณ์เรียนรู้สิ่งแวดล้อม เรียนรู้ความเป็นอยู่ของผู้อื่น สร้างความสัมพันธ์อยู่ร่วมกับผู้อื่น กับธรรมชาติรอบตัว  ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยฉบับนี้จึงถือ การเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย เป็นหัวใจสำคัญของการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
. แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคม  บริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่หรือแวดล้อมตัวเด็ก  ทำให้เด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยฉบับนี้ถือว่าผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับว่าวัฒนธรรมและสังคมที่แวดล้อมตัวเด็กมีอิทธิพลต่อ การเรียนรู้  การพัฒนาศักยภาพ  และพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ผู้สอนควรต้องเรียนรู้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมของเด็กที่ตนรับผิดชอบ เพื่อช่วยให้เด็กได้พัฒนา  เกิดการเรียนรู้  และอยู่ในกลุ่มคนที่มาจากพื้นฐานเหมือนหรือต่างจากตนได้อย่างราบรื่น มีความสุข
                สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. ๒๕๔๒ ผนวกกับแนวคิด   ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนดปรัชญาการศึกษาให้ สถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ทราบถึงแนวคิด หลักการพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุ ๓-๕ ปี ทั้งนี้ผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยของตนและนำสู่การปฏิบัติให้เด็กปฐมวัยมีมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดในจุดหมายของหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้กำหนดปรัชญาการศึกษาปฐมวัยไว้ดังนี้
ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปี บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของ             เด็กแต่ละคน ตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และ ความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม 

หลักการจัดการศึกษาปฐมวัย
การจัดทำหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยฉบับนี้ ยึดหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย  ดังนี้
. การสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม  การพัฒนาหลักสูตรพิจารณาจากวัยและประสบการณ์ของเด็ก   โดยเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์เดิมที่เด็กมีอยู่ และประสบการณ์ใหม่ที่เด็กจะได้รับต้องมีความหมายกับตัวเด็ก เป็นหลักสูตรที่ให้โอกาสทั้งเด็กปกติ เด็กด้อยโอกาส และเด็กพิเศษได้พัฒนา รวมทั้งยอมรับในวัฒนธรรมและภาษาของเด็ก พัฒนาเด็กให้รู้สึกเป็นสุขในปัจจุบัน มิใช่เพียงเพื่อเตรียมเด็กสำหรับอนาคตข้างหน้าเท่านั้น
. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก  สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะต้องอยู่ในสภาพที่สนองความต้องการ ความสนใจของเด็กทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน  ผู้สอนจะต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้อยู่ในที่ที่สะอาด ปลอดภัย  อากาศสดชื่น  ผ่อนคลาย        ไม่เครียด  มีโอกาสออกกำลังกายและพักผ่อน  มีสื่อวัสดุอุปกรณ์ มีของเล่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัย   ให้เด็กมีโอกาสได้เลือกเล่น  เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและโลกที่เด็กอยู่  รวมทั้งพัฒนาการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ดังนั้น สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสังคมที่มีคุณค่าสำหรับเด็กแต่ละคนจะเรียนรู้และสะท้อนให้เห็นว่าบุคคลในสังคมเห็นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษากับเด็กปฐมวัย 
การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก  ผู้สอนมีความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กอย่างมาก ผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกความรู้หรือสั่งให้เด็กทำมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก  ในการจัดสภาพแวดล้อมประสบการณ์และกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กที่ผู้สอนและเด็กมีส่วนที่จะริเริ่มทั้ง  ๒  ฝ่าย โดยผู้สอนจะเป็น       ผู้สนับสนุน ชี้แนะ และเรียนรู้ร่วมกับเด็ก ส่วนเด็กเป็นผู้ลงมือกระทำ เรียนรู้ และค้นพบด้วยตนเอง   ดังนั้น  ผู้สอนจะต้องยอมรับ  เห็นคุณค่า รู้จักและเข้าใจเด็กแต่ละคนที่ตนดูแลรับผิดชอบก่อน  เพื่อจะได้วางแผน สร้างสภาพแวดล้อม และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ผู้สอนต้องรู้จักพัฒนาตนเอง  ปรับปรุงใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมต่างๆให้เหมาะกับเด็ก
. การบูรณาการการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยยึดหลักการ บูรณาการที่ว่า  หนึ่งแนวคิดเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้สอนจะต้องวางแผนการจัดประสบการณ์ในแต่ละวันให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลายกิจกรรม หลากหลายทักษะ  หลากหลายประสบการณ์สำคัญ อย่างเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ เพื่อให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตรแกนกลางที่กำหนดไว้

การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก การประเมินเด็กระดับปฐมวัยยึดวิธี       การสังเกตเป็นส่วนใหญ่  ผู้สอนจะต้องสังเกตและประเมินทั้งการสอนของตนและพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กว่าได้บรรลุตามจุดประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ผลที่ได้จากการสังเกตพัฒนาการ จากข้อมูลเชิงบรรยาย จากการรวบรวมผลงาน การแสดงออกในสภาพที่เป็นจริง   ข้อมูลจากครอบครัวของเด็ก  ตลอดจนการที่เด็กประเมินตนเองหรือผลงาน สามารถบอกได้ว่าเด็กเกิดการเรียนรู้และมีความก้าวหน้าเพียงใด  ข้อมูลจากการประเมินพัฒนาการจะช่วยผู้สอนในการ        วางแผนการจัดกิจกรรม  ชี้ให้เห็นความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคน ใช้เป็นข้อมูลในการสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก  และขณะเดียวกันยังใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการศึกษาให้กับเด็กในวัยนี้ได้อีกด้วย

. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับครอบครัวของเด็ก เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เด็กเจริญเติบโตขึ้นมา  ผู้สอน  พ่อแม่  และผู้ปกครองของเด็กจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล  ทำความเข้าใจพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก  ต้องยอมรับและร่วมมือกันรับผิดชอบ  หรือถือเป็นหุ้นส่วนที่จะต้องช่วยกันพัฒนาเด็กให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน  ดังนั้น  ผู้สอนจึงมิใช่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับพ่อแม่ ผู้ปกครองเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก      เท่านั้น  แต่จะต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย ทั้งนี้ มิได้หมายความให้        พ่อแม่  ผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดเนื้อหาหลักสูตรตามความต้องการ โดยไม่คำนึงถึงหลักการจัดที่เหมาะสมกับวัยเด็ก

ทฤษฎีหลักสูตร
                ทฤษฎีหลักสูตรมีความสัมพันธ์กันอย่างมากกับปรัชญาการศึกษา ในขณะที่หลักสูตรเป็นแนวทางของสถานศึกษาที่ใช้ในการจัดมวลประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน โดยมีหลักคิดหรือเลือกมวลประสบการณ์ โดยหลักคิดนั้นมาจากความเชื่อที่มีต่อเป้าหมายและปัจจัย ตลอดจนแนวทางการจัดการศึกษาที่ได้จากปรัชญาทางการศึกษา ที่นำไปสู่การกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรที่สอดคล้องกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่ได้พัฒนาและกลั่นกรองมาอย่างเป็นระบบ  ส่วนทฤษฎีหลักสูตรนั้น หมายถึงแนวคิดของการกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตร อันได้แก่ จุดหมาย สาระของหลักสูตร บทบาทครูในฐานะผู้ใช้หลักสูตร แนวทางการจัดประสบการณ์ และเกณฑ์การประเมินคุณภาพของการจัดประสบการณ์ ทั้งนี้ทฤษฎีหลักสูตรแต่ละทฤษฎีจึงมีความแตกต่างกัน ตามความเชื่อของทฤษฎีนั้นๆ
               


สำหรับทฤษฎีหลักสูตรนั้น ไอส์เนอร์ (Eisner. 1985, อ้างถึงใน ประพนธ์ เจียรกุล.2540 : 80-85) ได้จำแนกออกดังนี้
1.  หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางสติปัญญา (development of cognitive process) เป็นทฤษฎีหลักสูตรที่เน้นทักษะกระบวนการทางปัญญา ได้แก่ ทักษะการแสดงหาความรู้และทักษะการแก้ปัญหา ลักษณะของหลักสูตรตามทฤษฎีนี้คือ
1.1 กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะกระบวนการแก้ปัญหา
1.2 มีกระบวนการจัดประสบการณ์โดยครูเป็นผู้จัดสถานการณ์และสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหา

2. หลักสูตรเพื่อพัฒนาสติปัญญา (academic rationalism) เป็นทฤษฎีหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทางสติปัญญาจากการเรียนวิชาความรู้ต่างๆ ลักษณะหลักสูตรตามทฤษฎีนี้คือ
                2.1 กำหนดให้ผู้เรียน เรียนในรายวิชาที่เป็นวิชาการ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามและพัฒนาทางสติปัญญา
                2.2 การเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษา เป็นการเรียนเพื่อหาความรู้ด้านวิชาการ เพื่อให้เด็กได้สำรวจความถนัดและความสนใจเพื่อการเรียนวิชาชีพต่อมาในภายหลัง

3.  หลักสูตรเพื่อเตรียมชีวิตในอนาคต (social adaptation) เป็นทฤษฎีที่มีความเชื่อว่าหน้าที่ของสถานศึกษาคือการถ่ายทอดค่านิยม วัฒนธรรมของสังคมให้เด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตไปอยู่ในสังคม โดยเป็นสมาชิกที่ดีและมีคุณภาพในอนาคต ลักษณะของหลักสูตรตามทฤษฎีนี้คือ
                3.1 ความรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียน ได้แก่ ความรู้ที่เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพ
                3.2 การเรียนสาระการเรียนรู้ยังคงวิชาที่เป็นวิชาแกนควบคู่กับวิชาทักษะพื้นฐานและวิชาเลือกอื่นๆ ส่วนการเลือกสิ่งที่นำมาเรียนจะต้องเลือกสิ่งที่สำคัญและจำเป็นโดยพิจารณาจากความต้องการของเด็กและความต้องการของสังคม

4. หลักสูตรเพื่อการปฏิรูปสังคม (social reconstruction) หลักสูตรตามทฤษฎีนี้ มีความเชื่อว่าสถานศึกษาเป็นแหล่งสร้างสรรค์ บุคคลเพื่อเป็นผู้นำในการปฏิรูปสังคม โดยกำหนดลักษณะของหลักสูตรเป็น 2 แนวทาง คือ             4.1 การจัดประสบการณ์แบบสังคมอุดมคติ โดยจัดให้เด็กได้เรียนและใช้ชีวิตในสถานศึกษาในสังคมอุดมคติ ซึ่งมีลักษณะต่างจากสังคมภายนอกอย่างสิ้นเชิง โดยเชื่อว่าเมื่อจบการศึกษาออกไปนักเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้เป็นลักษณะสังคมอุดมคติ ในสถานศึกษาขึ้นมาได้
                4.2 การจัดประสบการณ์ที่นำปัญหาสังคมมาสู่การเรียนการสอนที่เน้นการแก้ปัญหานั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาเป็นพลเมืองที่มีพลังในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เผชิญอยู่ วิธีการจัดประสบการณ์ได้แก่ การจัดกิจกรรมให้เด็กมองเห็น ปัญหาและหาทางแก้ปัญหานั้นๆ โดยคาดหวังว่าผู้เรียนจะมีจิตสำนึกในการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาสังคมนั้นๆ

5. หลักสูตรเพื่อสนองความเป็นปัจเจกบุคคล (personal relevance) ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคล จึงมีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่จะเรียน หลักสูตรจึงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดมาจากส่วนกลาง ลักษณะของหลักสูตรตามทฤษฎีนี้คือ
                5.1 การจัดประสบการณ์ที่มีความหมายต่อเด็กแต่ละคน
                5.2 หลักสูตรเกิดจากการการกำหนดร่วมกันระหว่างเด็กกับครูโดยมีการวางแผนร่วมกัน ครูจะเป็นผู้ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดทางเลือกต่างๆ ครูจึงเป็นผู้อำนวยความสะดวกมากกว่าการเป็นผู้กำหนดสิ่งที่ให้เด็กเรียน
                5.3 ผู้เรียนจะได้รับอิสรภาพในการเรียนและมีเสรีภาพในการคิดและการกระทำในสิ่งที่ตนเลือกเรียน

                จากทฤษฎีหลักสูตรทั้ง 5 ทฤษฎี แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความสอดคล้องกันในด้านความเชื่อของเป้าหมาย สาระการเรียนรู้และวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ผู้พัฒนาหลักสูตรจะนำไปเป็นหลักการในการดำเนินการต่อไป

                                                   

                                 


  แหล่งอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น